วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การสร้างแบบทดสอบแบบอัตนัย


เพิ่มเติมจากบทความที่แล้ว

ข้อสอบแบบอัตนัย เป็นข้อสอบที่ประกอบด้วยคำถามที่มีจำนวนข้อไม่มากนัก ไม่มีคำตอบให้เลือกตอบ  ผู้ตอบจะต้องคิดหาคำตอบเองโดยบูรณาการความรู้และความคิดแล้วแสดงออกเป็นภาษาเขียนอย่างถูกต้องและสมเหตุสมผลตามหลักวิชาของศาสตร์นั้น ๆ
           หลักในการสร้างข้อสอบแบบอัตนัย
                     การสร้างข้อสอบแบบอัตนัยมีหลักการดังนี้
           1.   ขั้นเตรียมหรือขั้นวางแผนการสร้างข้อสอบ  ต้องกระทำสิ่งต่อไปนี้
                 1.1  ตั้งวัตถุประสงค์ของการสร้างข้อสอบอัตนัยว่ามุ่งวัดพฤติกรรมด้านใด
                 1.2  จัดทำตารางวิเคราะห์หลักสูตรหรือตารางวิเคราะห์เนื้อหาวิชา  เพื่อกำหนดว่า ข้อสอบต้องวัดเนื้อหาและพฤติกรรมด้านใด
          2.   ขั้นสร้าง เป็นขั้นของการสร้างข้อสอบตามตารางวิเคราะห์เนื้อหาวิชา โดยอาจมีจำนวนข้อสอบมากกว่าที่กำหนด  ซึ่งจะดำเนินการคัดทิ้งภายหลัง  สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการสร้างข้อสอบอัตนัยมีดังนี้
                 2.1  ควรเป็นข้อสอบที่สามารถวัดพฤติกรรมระดับสูงที่ไม่สามารถวัดด้วยข้อสอบชนิดอื่น ๆ
                 2.2  ควรมีกรอบโครงสร้างของข้อคำถามที่แจ่มชัดไม่กำกวม พร้อมทั้งระบุถึงระยะเวลาที่ใช้ในการตอบ
                 2.3   ข้อสอบควรเน้นคำตอบสั้น ๆ เน้นคำตอบที่มีขอบเขตจำกัด
                 2.4   ไม่ควรสร้างข้อสอบอัตนัยแบบให้เลือกทำเป็นบางข้อ  เพราะอาจเกิดความไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ตอบที่เก่งซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเลือกทำข้อที่ยากหรือมีลักษณะท้าทาย  และผู้ตอบอาจเกิดความลังเลในการเลือก  ทำให้เสียเวลาซึ่งส่งผลต่อคะแนนการสอบ
                 2.5  ควรสร้างข้อสอบให้เหมาะสมกับความสามารถและวุฒิภาวะของผู้ตอบ
                 2.6  ควรสร้างข้อสอบให้มีรูปแบบใหม่ สถานการณ์ใหม่ ซึ่งมีลักษณะท้าทาย    กระตุ้นพัฒนาการของผู้ตอบในด้านความสามารถของสมองในระดับสูง
            3.  ขั้นสร้างคู่มือเฉลยคำตอบและการให้คะแนน เป็นขั้นของการเฉลยคำตอบที่มีโอกาสเป็นไปได้พร้อมทั้งกำหนดกฏเกณฑ์การให้คะแนน
            4.  ขั้นทบทวนและคัดเลือกข้อสอบ  ดังนี้
                  4.1  ตรวจสอบว่าข้อสอบแต่ละข้อที่สร้างวัดตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งหรือตามตารางวิเคราะห์เนื้อหาหรือไม่
                  4.2  คาดคะเนว่าข้อสอบแต่ละข้อมีระดับความยากระดับใด  พร้อมทั้งพิจารณาว่ามีโอกาสที่จะมีผู้ตอบถูกหรือไม่  ถ้าคาดว่าจะไม่มีก็ควรตัดทิ้ง หรือปรับปรุงให้ง่ายขึ้น
                   4.3  คัดเลือกข้อสอบตามจำนวนข้อที่ต้องการ พร้อมทั้งพิจารณาว่าจำนวนข้อที่คัดเลือกให้เหมาะสมกับระยะเวลาในการสอบหรือไม่
             การให้คะแนนข้อสอบแบบอัตนัย
             การตรวจให้คะแนนข้อสอบแบบอัตนัย  มี  2  แบบ  ดังนี้
             1.  การให้คะแนนแบบจุด หรือแบบวิเคราะห์เป็นส่วน ๆ เป็นวิธีการตรวจให้คะแนนโดยการเปรียบเทียบคำตอบกับคำเฉลย
             2.   การให้คะแนนแบบประเมินค่าหรือแบบภาพรวม เป็นการจัดเตรียมเกณฑ์การให้คะแนนอย่างกว้าง ๆ วิธีตรวจให้คะแนนอย่างกว้าง ๆ วิธีตรวจให้คะแนนโดยเปรียบเทียบคำตอบข้อหนึ่งๆ ของทุกคนพร้อมทั้งจัดแบ่งตามคุณภาพออกเป็นกลุ่ม
             ข้อแนะนำในการตรวจให้คะแนน
              การตรวจให้คะแนนของข้อสอบอัตนัยควรปฏิบัติดังนี้
              1. จัดเตรียมคู่มือการตรวจให้คะแนน  สำหรับข้อสอบแบบจำกัดคำตอบต้องมีกฎเกณฑ์ การให้คะแนนที่แน่นอนเด่นชัดเป็นระบบ คือการให้คะแนนแบบจุด ส่วนข้อสอบที่ไม่จำกัดคำตอบต้องมีประเด็นหลักที่จะให้คะแนน
              2.   ในการตรวจให้คะแนนควรปฏิบัติดังนี้
                     2.1 ควรตรวจให้คะแนนข้อหนึ่ง ๆ ของทุกคนให้เสร็จ  เพื่อป้องกันการลำเอียง  และเพิ่มความเชื่อมั่นในการให้คะแนน
                     2.2 ควรตรวจให้คะแนนข้อหนึ่ง ๆ ให้เสร็จ โดยปราศจากการรบกวนหรือ การหยุดพักเป็นเวลานาน ๆ
                     2.3 ควรมีการสุ่มตรวจข้อสอบ  โดยไม่ต้องเรียงลำดับคนแรกไปถึงคนสุดท้ายในทุก ๆ ข้อ  เพื่อป้องกันความลำเอียง
                     2.4  ไม่ควรดูชื่อผู้ตอบ วิธีป้องกันให้ผู้ตอบเขียนชื่อด้านหลังของกระดาษคำตอบแทนที่จะเป็นหน้าแรกของกระดาษคำตอบ
                     2.5 ไม่ควรนำปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของการตอบมาพิจารณา  เช่น ลายมือ  สำนวน  ภาษา การสะกด    แต่ถ้าผู้ตรวจเน้นว่าเป็นสิ่งสำคัญควรแจ้งให้ผู้ตอบทราบล่วงหน้าว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อคะแนน พร้อมทั้งแยกคะแนนส่วนนี้ไว้ต่างหาก
                     2.6 ควรใช้ผู้ตรวจให้คะแนน 2 คน  หรือมากกว่า  เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของการให้คะแนน  ถ้าหากหาผู้ตรวจมากกว่า 1 คนไม่ได้  อาจใช้ผู้ตรวจคนเดียวตรวจซ้ำ 2 ครั้ง  โดยเว้นช่วงเวลาในการตรวจพร้อมทั้งสลับลำดับที่ของข้อสอบ
               3.  จัดทำรายงานผลการให้คะแนนและเกรด  พร้อมทั้งข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของผู้ตอบ เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบว่าตนมีจุดบกพร่องด้านใดเพื่อซ่อมเสริม และเพื่อง่ายแก่การชี้แจงถึงผลการให้คะแนนและการตัดเกรด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น